ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

มะละกอหลังตัดต้นทำสาว เลือกกิ่งแบบไหนให้ติดลูกดก


     แนะนำวิธีการเลือกไว้กิ่งมะละกอหลังตัดต้นทำสาว ให้ติดลูกดกที่เห็นในบทความนี้จะเป็นมะละกอฮอลแลนด์ทั้งหมดที่ปลูกในสวนผมเอง 

มะละกอฮอลแลนด์
     ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามะละกอหลังปลูกได้สักระยะคือประมาณ 7-8 เดือนก็จะเริ่มให้ผลผลิต พอเก็บมะละกอจนหมดต้นหมดฤดูกาล ก็จะเป็นช่วงที่เรียกว่า “มะละกอหมดคอ หรือมะละกอขาดคอ” ก็ต้องรอเก็บรอบปีต่อไปจากต้นเดิม ซึ่งอาจทำให้ต้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จากผลผลิตที่ต่อเนื่องกันหลายปี เป็นอุปสรรคในการเก็บเพราะต้องใช้บันไดปีนเก็บ ที่สวนผมจึงมีการตัดต้นทำสาวทุกการเก็บเพียง 1 รอบ เพื่อให้แตกกิ่งใหม่ ให้ได้มะละกอต้นเตี้ย ได้ต้นกะเทย หรือต้นสมบูรณ์เพศเหมือนเดิม และเป้าหมายหลักก็คือเพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่ม โดยที่ไม่ต้องปลูกใหม่ 

มะละกอหลังตัดต้นทำสาว
     การตัดต้นทำสาวมะละกอก็สามารถทำได้ง่ายๆเพียงเรากะระยะจากโคนต้น (ต้นที่จะตัดทำสาว) ขึ้นมาประมาณ 1 เมตร แล้วใช้มีดหรือเลื่อยตัดส่วนบนทิ้ง จากนั้นก็คลุมด้วยถุงพลาสติกเพื่อกันน้ำเข้าไปขังในลำต้น ไม่ให้กิ่งแขนงมะละกอที่แตกออกมาใหม่เกิดอาการใบเหลืองต้นโทรมนั่นเอง


     ในช่วงที่ตัดต้นทำสาวก็จะไม่ให้น้ำบ่อยเกินไป คือจะให้น้ำทุก 3 วัน/ครั้ง อันนี้ก็ต้องพิจารณาจากสภาพอากาศด้วย ส่วนใหญ่ที่สวนผมจะตัดต้นทำสาวช่วงปลายเดือนเมษายนเป็นต้นไป พอผ่านไปประมาณ 2 -3 สัปดาห์ ต้นมะละกอที่ตัดก็จะแตกยอดออกมาใหม่ คำถามคือ “เราจะเลือกกิ่งแบบไหน เพื่อให้ได้กิ่งที่สมบูรณ์ติดผลดกแทนต้นแม่เดิมที่เราตัดทิ้งไป?” โดยส่วนตัวผมแล้วจะเลือกกิ่งที่อยู่ส่วนล่างของต้นมะละกอที่ตัด เพราะจะเป็นกิ่งที่แข็งแรงมีเนื้อเยื่อที่ประสานจากลำต้นมากที่สุด ส่วนยอดที่แตกแขนงด้านบนจะทยอยเด็ดออก เพราะเป็นกิ่งที่จะต่อยอดสูงทำให้เก็บผลผลิตลำบาก และเพื่อป้องกันเพลี้ยต่างๆที่จะเข้ามาทำลายยอดอ่อนของมะละกอด้วย จะเหลือไว้เฉพาะกิ่งแขนงที่อยู่ด้านล่าง รอให้โตสักระยะประมาณขนาดท่อ 4 หุน หรือมีรัศมีประมาณ 2-3 เซนติเมตร ก็จะทำการคัดเลือกกิ่งมะละกอ เพื่อไว้แทนต้นแม่ที่ตัดทิ้งต่อไป

ลักษณะกิ่งมะละกอที่ดี (ควรเลือกไว้)
     ในการคัดเลือกกิ่งของมะละกอที่แตกแขนงออกมาใหม่ ผมจะเลือกไว้เฉพาะกิ่งที่มีเนื้อเยื่อประสานกับต้นแม่มากที่สุดซึ่งจะอยู่ด้านล่างหรือระหว่างกลางลำต้นที่ตัดออก ซึ่งสังเกตได้จากช่วงรอยต่อของกิ่งจะเฉียงขึ้นด้านบนประมาณ 30-45 องศา รอยต่อหรือรอยที่แตกแขนงออกมาควรประสานกันดีเหมือนที่เห็นในภาพ กิ่งในลักษณะนี้เมื่อโตขึ้นก็จะเชื่อมติดประสานต้นแม่เป็นต้นเดียวกันจะให้ผลดก ให้ผลคุณภาพเหมือนต้นแม่เดิม ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักหรือรูปทรงผล รสชาติและความหวานต่างๆก็ยังคงอยู่ 

ลักษณะกิ่งที่ไม่ดีควรตัดทิ้ง
     ส่วนกิ่งที่มีลักษณะไม่ดีที่ผมจะทำลายทิ้งก็คือกิ่งที่ออกจากต้นแม่ในลักษณะตรงออกมาประมาณ 60-70 องศาแล้วโค้งขึ้นบน คือจะไม่เฉียง 45 องศากับลำต้นแม่เดิม มีลักษณะคล้ายแตกยอดออกมาจากตาข้างผิวเปลือกของต้นแม่ คือ เหมือนกับเนื้อเยื่อไม่ประสานกันดี ประสานแค่ส่วนผิวเปลือกเหมือนในภาพด้านบนนี้เลยครับ เพราะกิ่งแขนงมะละกอลักษณะนี้ทำให้หักง่ายเมื่อโดนลมพัด ต้องใช้ไม้ค้ำยันเอาไว้ และที่สำคัญผลผลิตที่ออกมาจากกิ่งในลักษณะนี้แม้รูปทรงจะสวย แต่ก็จะเป็นผลที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ได้น้ำหนัก ซึ่งน้ำหนักเฉลี่ยอาจได้แค่ผลละประมาณ 2-3 ขีด ถือว่าเป็นผลตกเกรดขายไม่ได้ราคา ผมจะทำการเด็ดกิ่งที่มีลักษณะแบบนี้ทิ้ง เหลือไว้เฉพาะกิ่งที่ออกจากตาข้างแล้วเฉียงขึ้นบนเหมือนในภาพที่นำมาให้ชมด้านล่างนี้

กิ่งแขนงมะละกอที่ดี

     มะละกอที่สวนผมจะเก็บแค่ 1 ฤดูกาลเท่านั้นจากนั้นก็จะตัดต้นทำสาว ที่ผ่านมาได้มีการทดลองไว้ 1 – 2 หรือ 3 กิ่ง/ต้น หลังตัดทำสาวทุกปีเพื่อเปรียบเทียบผลผลิต และคุณภาพ สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปคือถ้าพื้นที่ปลูกของเราอุดมสมบูรณ์ดี ก็จะเอาไว้ 2 กิ่งบ้าง 3 กิ่งบ้างตามสมควร ผลผลิตก็จะมากขึ้นเป็นอีกเท่าตัวเลยทีเดียวครับ

ต้นมะละกออายุ 4 ปีครึ่ง หลังตัดต้นทำสาวรอบที่ 3

ภาพด่านบนที่เห็นคือต้นมะละกอที่ตัดทำสาวรอบที่ 3 วันที่ตัดคือวันที่ 26 เมษายนปี2020นี้ (เมื่อวาน)
ปัจจุบันมะละกอต้นนี้อายุสี่ปีครึ่งที่ผ่านมาก็ยังให้ผลผลิตดกต่อเนื่อง อันนี้ก็รอแตกยอดใหม่จะเหลือไว้สัก 3 กิ่งคาดว่าคงได้เก็บผลิตเกิน 5 ปีแน่นอน

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็คือเทคนิคการเลือกไว้แขนงหรือกิ่งมะละกอฮอลแลนด์เพื่อให้ได้ผลผลิตดกเพิ่มอีกเท่าตัวที่ผมใช้มา เหมือนเราเก็บผลผลิตจากมะละกอ 2 ต้น ในต้นเดียวโดยที่ไม่ต้องปลูกใหม่ เพราะผมจะไว้สองกิ่งนั่นเอง ก็ถือว่านำมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อมีประโยชน์สำหรับคนที่กำลังสนใจและคิดจะปลูกมะละกอไว้รับประทานเองในครัวเรือน หรือจะปลูกในเชิงพาณิชย์ก็ลองไปพิจารณาดูนะครับ.


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มะละกอใบเหลือง ต้นโทรม เกิดจากอะไร

    นี่ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามที่หลายท่านได้สอบกันเข้ามาในเรื่องของการปลูกมะละกอ โดยเฉพาะปัญหามะละกอใบเหลืองในระยะปลูกใหม่ หรือปลูกไปสักระยะเกิดอาการใบเหลือง ใบร่วง ต้นโทรม และตายในที่สุด ผมจึงรวบรวมข้อมูลจากประสบการณ์จริงที่ทำสวนเกษตรผสมผสานโดยเฉพาะการปลูกมะละกอฮอลแลนด์ที่ผ่านมาก็ร่วม 4 ปี ก็พอมีความรู้บ้าง     ขอนำเรื่องราวดีๆมาเล่าให้ฟังพอเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา ซึ่งสาเหตุหลักๆที่มะละกอเกิดอาการใบเหลืองหลักๆก็มีอยู่ 5 สาเหตุคือ 1. ขาดไนโตรเจน          ข้อนี้ถือว่าเป็นหัวใจหลักที่คนทำเกษตรต้องรู้เกี่ยวกับการขาดธาตุอาหารหลักของพืชโดยเฉพาะ N-P-K เพราะถ้าพืชขาดธาตุอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะแสดงอาการให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนอย่างเช่น ถ้าขาดธาตุ ไนโตรเจน ใบของพืชจะมีมีสีเขียวซีดแล้วจะค่อยๆเหลือง โดยจะสังเกตได้จากใบแก่ที่อยู่ด้านล่างของพืช ต้นจะแคระแกร็นและโตช้า ในกรณีพืชขาด ฟอสฟอรัส บนแผ่นใบจะมีสีม่วงแดงขอบใบจะใหม่และม้วนงอ ต้นพืชจะผอมสูงและโตช้า ส่วนในกรณีที่พืชขาด โพแทสเซียม   ลักษณะใบที่อยู่ด้านล่างจะมีจุดสีน้ำตาล ใบแห้งเป็นมันขอบใบม้วนงอ พืชจะโตช้าผลสุกเสมอไม่เท่ากัน อันน

การสังเกตมะละกอต้นใหน..? ต้นตัวผู้..ต้นตัวเมีย..หรือต้นกระเทย

เคล็ดลับสังเกตเพศมะละกอ ต้นมะละกอแบ่งออกเป็น 3 เพศ   คือ ต้นตัวผู้ ต้นตัวเมียและต้นสมบูรณ์เพศ หรือเรียกอีกอย่างว่ามะละกอต้นกระเทย โดยทั่วไปจะสังเกตเพศได้เมื่อต้นมะละกอ ออกดอกแล้วเท่านั้น ขณะนี้ยังไม่มีวิธีการใดที่จะบอกเพศมะละกอในขณะที่ยังเป็นต้นกล้าเล็ก ๆ หรือก่อนที่มะละกอออกดอกได้ *** เพศของดอกมะละกอมีตัวถ่ายทอดพันธุกรรม คือ ยีนส์เพียงคู่เดียวเป็นตัวควบคุม มีวิธีการสังเกตดังนี้ เพศมะละกอ 1. มะละกอต้นตัวผู้   มีช่อดอกยาวแตกแขนงเป็นสาย 70-120 เซนติเมตร ดอกบนช่อเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่มีอวัยวะเพศเมียปรากฏอยู่แต่ไม่ทำหน้าที่ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวหรือครีมโคนกลีบเป็นหลอด ปลายกลีบแยกกัน 5 แฉก บริเวณโคนติดกัน กลีบที่แยกกันนั้นจะมีอับเกสรตัวผู้สีเหลือง 10 ชุด   ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และช่วงแสงต่อวันน้อย รังไข่ของดอกมะละกอต้นตัวผู้อาจเจริญพัฒนาติดเป็นผล หลังจากรับการถ่ายละอองเกสรตัวผู้ได้ มะละกอต้นตัวผู้นี้ปกติไม่ให้ผลคุ้มค่าการลงทุน ควรทำการตัดทิ้ง ดอกมะละกอตัวผู้ 2. มะละกอต้นตัวเมีย   จะเป็นต้นตัวเมียที่แท้จริง โดยมีช่อดอกยาวปาน

วิธีตัดต้นมะละกอ หรือ "ทำสาวมะละกอ" ให้ได้ต้นเตี้ย ติดลูกดก

พบกันอีกแล้วครับ..กับบทความเกษตรดีๆ รวมไปถึงเทคนิคเด็ด เคล็ดไม่ลับในการทำเกษตร ที่ผมนำมาฝากโดยเฉพาะสำหรับคนที่ปลูกมะละกอ ไม่ว่าจะเพื่อการค้าหรือว่ากันในเชิงพาณิชย์นะครับ ทำสาวมะละกอ เรื่องราวที่ผมจะนำมาบอกเล่าให้ฟังในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งวิธีในการดูแล และยืดอายุมะละกอในสวนของเรา หรือเรียกง่ายๆก็คือการทำสาวมะละกอ ให้ได้ต้นเตี้ย ติดลูกดก มีวิธีง่ายๆดังนี้ครับ หลังจากเราเก็บผลผลิตมะละกอชุดแรกหรือคอแรกไปแล้ว (ต้นมะละกออายุประมาณ 1 หรือ 2  ปี) ให้เราตัดต้นทิ้ง 2 ส่วน เหลือไว้ส่วนเดียว (จากโคนต้นขึ้นมา) ในการตัดให้ตัดเฉียงด้วยเลื่อยหรือมีดคมๆ จากนั้นก็คลุมด้วยถุงหรือแก้วพลาสติกเพื่อกันไม่ให้น้ำเข้า เสร็จแล้วให้บำรุงต้นด้วยมูลสัตว์เก่า หรือปุ๋ยสูตร 46-0-0 ประมาณ 1 ช้อนแกง/ต้น เพื่อเร่งการแตกยอด สุดท้ายก็รดน้ำให้ชุ่่ม คลุมด้วยเศษฟางหรือใบไม้แห้ง เพื่อเก็บรักษาความชื้นเป็นอันเสร็จครับ ทำสาวมะละกอ ต้นเตี้ย ลูกดก ด้วยวิธีง่ายๆเพียงเท่านี้  ผ่านไปประมาณ 3 สัปดาห์แขนงข้างต้นก็จะเจริญเติบโตเป็นลำต้นใหม่ที่พร้อมให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ในรุ่นต่อไปๆครับ