ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

มะละกอใบเหลือง ต้นโทรม เกิดจากอะไร


    นี่ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามที่หลายท่านได้สอบกันเข้ามาในเรื่องของการปลูกมะละกอ โดยเฉพาะปัญหามะละกอใบเหลืองในระยะปลูกใหม่ หรือปลูกไปสักระยะเกิดอาการใบเหลือง ใบร่วง ต้นโทรม และตายในที่สุด ผมจึงรวบรวมข้อมูลจากประสบการณ์จริงที่ทำสวนเกษตรผสมผสานโดยเฉพาะการปลูกมะละกอฮอลแลนด์ที่ผ่านมาก็ร่วม 4 ปี ก็พอมีความรู้บ้าง 



   ขอนำเรื่องราวดีๆมาเล่าให้ฟังพอเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา ซึ่งสาเหตุหลักๆที่มะละกอเกิดอาการใบเหลืองหลักๆก็มีอยู่ 5 สาเหตุคือ

1. ขาดไนโตรเจน
    
    ข้อนี้ถือว่าเป็นหัวใจหลักที่คนทำเกษตรต้องรู้เกี่ยวกับการขาดธาตุอาหารหลักของพืชโดยเฉพาะ N-P-K เพราะถ้าพืชขาดธาตุอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะแสดงอาการให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนอย่างเช่น ถ้าขาดธาตุ ไนโตรเจน ใบของพืชจะมีมีสีเขียวซีดแล้วจะค่อยๆเหลือง โดยจะสังเกตได้จากใบแก่ที่อยู่ด้านล่างของพืช ต้นจะแคระแกร็นและโตช้า ในกรณีพืชขาด ฟอสฟอรัส บนแผ่นใบจะมีสีม่วงแดงขอบใบจะใหม่และม้วนงอ ต้นพืชจะผอมสูงและโตช้า ส่วนในกรณีที่พืชขาด โพแทสเซียม  ลักษณะใบที่อยู่ด้านล่างจะมีจุดสีน้ำตาล ใบแห้งเป็นมันขอบใบม้วนงอ พืชจะโตช้าผลสุกเสมอไม่เท่ากัน อันนี้ถือเป็นความรู้เสริมนะครับ ส่วนในกรณีของพืชใบเหลืองที่ขาดในโตรเจนผมก็มีวิธีแก้แบบเร่งด่วนแบบง่ายๆนั่นก็คือให้นำปุ๋ยสูตร 46-0-0 ปริมาณ 1 ช้อนแกงผสมน้ำ 1 แก้ว คนละลายให้เข้ากัน จากนั้นนำไปเทใส่บัวรดน้ำเติมน้ำให้เต็ม หรือนำไปใส่ถังสำหรับพ่นปุ๋ยทั่วไป (อัตราส่วนเทียบเท่ากับปุ๋ยสูตร 46-0-0 ปริมาณ 1 ช้อนแกงผสมน้ำ 15-20 ลิตร) จากนั้นให้นำไปรดหรือฉีดพ่นทั่วทรงพุ่มของต้นมะละกอที่เกิดอาการดังกล่าว 1 บัวรดน้ำจะรดได้ 10 ต้น (นี่คือวิธีแก้ปัญหาในกรณีของมะละกอที่ปลูกลงดินแล้ว) ส่วนในกรณีที่เป็นต้นกล้าที่เกิดอาการใบเหลืองให้เราทำแบบเดียวกัน เพียงแต่เมื่อรดหรือฉีดพ่นน้ำปุ๋ยเสร็จทั่วแปลงแล้ว ให้รดน้ำเปล่าตามด้วย เพื่อลดความเข้มข้นของปุ๋ยลงไป ป้องกันไม่เกิดปัญหาใบไหม้เนื่องจากปริมาณความเข้มข้นของปุ๋ยที่สูงเกินไป หรืออาจลดอัตราส่วนของปุ๋ยที่ผสมลงเป็นครึ่งช้อนแกงผสมน้ำ 20 ลิตร รดที่ต้นกล้าให้ทั่วแปลงก็ได้ วิธีแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนนี้แนะนำให้ทำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือ 2 สัปดาห์/ครั้งก็ได้ จนกระทั่งเห็นว่าใบมะละกอเริ่มฟื้นกลายเป็นสีเขียว ต้นมะละกอมีความสมบูรณ์ดีแล้วค่อยดูแลแบบชีวภาพต่อไป อาจจะฉีดพ่นด้วยจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงเป็นระยะ สลับกับน้ำหมักชีวภาพต่างๆที่เรามีอยู่ ปัญหาเรื่องมะละใบเหลืองก็จะค่อยๆหายไปต้นมะละกอก็จะเจริญเติบโตได้ไว




2. ขาดน้ำ หรือ ให้น้ำในปริมาณที่มากเกินไป
    
    มะละกอใบเหลืองต้นแคระส่วนใหญ่จะเป็นมะละกอที่ปลูกในช่วงหน้าฝน หรือไม่ก็มีการให้น้ำที่บ่อยและมากเกินไป หรือรดน้ำจนแฉะเกินไปในระยะเวลาติดๆกัน เพราะในช่วงเป็นต้นกล้าเล็กๆหรือช่วงปลูกใหม่ขอย้ำเลยนะครับว่า เราไม่ควรให้น้ำต่อเนื่องนานเกินไป หรือไม่ควรให้น้ำติดต่อกันหลายวัน จนทำให้รอบโคนต้นมะละกอชื้นแฉะเกินไป เพราะจะทำให้เกิดปัญหาที่ราก พอรากมะละกอเริ่มเสียหายก็จะส่งผลให้มะละกอใบเหลือง ถ้ารากเน่าเสียหายมากอาจทำให้ใบร่วงต้นแคระแกรนและตายในที่สุดซึ่งจะเห็นได้ทั้งกับมะละกอที่เริ่มปลูกใหม่และมะละกอที่กำลังให้ผลผลิตหรือแม้กระทั่งมะละกอที่ให้ผลผลิตไประยะหนึ่งแล้ว วิธีแก้ก็คือไม่ควรให้น้ำบ่อยเกินไปอาจให้น้ำวันเว้นวันในช่วงหน้าแล้ง หรือ 3-5 วัน/ครั้งในช่วงหน้าฝน ข้อนี้ก็ต้องพิจารณาตามสภาพอากาศและความชื้นในดินด้วย ในกรณีที่เราปลูกหน้าฝน มีฝนตกหนักติดต่อกันนานหลายวันควรงดให้น้ำ หรือถ้ามีน้ำขังแปลงก็ให้รีบระบายน้ำออกอย่าให้มีน้ำขังเป็นอันขาด เพราะจะเกิดปัญหารากมะละกอเน่าเสียหายได้




3. วัสดุรองพื้นหลุมเกิดความร้อนสูงทำลายราก

    ในกรณีที่เราปลูกใหม่ถ้าผสมปุ๋ยคอกกับหน้าดินน้อยเกินไป เมื่อนำต้นกล้ามะละกอลงปลูกจะทำให้เกิดความร้อนสูงอยู่ภายในดิน เพราะกระบวนการย่อยสลายและการหมักตัว ซึ่งจะส่งผลทำให้ความร้อนไปอบรากมะละกอที่ปลูกใหม่เกิดอาการรากเน่า ต้นโทรมใบเหลืองได้ ในการปลูกมะละกอแนะนำให้ขุดหลุมลึกประมาณ 10 เซนติเมตร แยกหน้าดินไว้ต่างหาก จากนั้นให้รองพื้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 1 ถ้วย หรือครึ่งกก./หลุม กลบด้วยหน้าดินเป็นชั้นกั้นเอาไว้ก่อน การปลูกมะละกอควรเริ่มตั้งแต่เลือกต้นกล้าที่มีใบจริงประมาณ 3-4 ใบเตรียมไว้ (ใบจริงก็คือใบที่มีหยักเหมือนในภาพนี้) จากนั้นให้ขุดหลุมลึกประมาณ 10 เซนติเมตร แยกหน้าดินไว้ต่างหาก รองพื้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเก่า อาจผสมคลุกเคล้าในหลุม แล้วเอาหน้าดินปิดทับบางๆ เพื่อป้องกันความร้อนจากวัสดุรองพื้นทำลายรากมะละกอที่ปลูกใหม่ เสร็จแล้วให้วางต้นมะละกอลงไป ระวังอย่าให้ตุ้มดินแตกเพราะจะทำให้รากฝอยได้รับความเสียหายทำให้มะละกอโตช้า (ทางที่ดีควรงดน้ำก่อนปลูกประมาณ 2 วัน) พอวางต้นกล้ามะละกอลงไปแล้ว ให้กลบด้วยหน้าดินที่ขุดขึ้นมา พูนดินรอบโคนต้นให้สูงกว่าผิวดินประมาณ 1 ข้อมือ กดรอบโคนต้นให้แน่น ถ้าปลูกในช่วงหน้าฝนไม่ต้องคลุมโคนต้นก็ได้ แต่ถ้าปลูกมะละกอในช่วงหน้าแล้ง แนะนำให้หาเศษฟางหรือเศษใบไม้แห้งคลุมโคนต้นเอาไว้ เพื่อรักษาความชื้น แต่ไม่ควรคลุมฟางชิดโคนต้นมากเกินไป เพราะในกรณีให้น้ำมากเกินไปอาจทำให้รากหรือโคนต้นมะละกอเน่าได้ การเว้นระยะห่างระหว่างโคนต้นก็เพื่อให้แสงแดดส่องผ่านถึงโคนต้นมะละกอได้เป็นการป้องกันเชื้อราอีกด้วย

4. น้ำขังรอบโคนต้น หรือ ปลูกบนพื้นที่ราบไม่มีการยกร่อง
    
    การปลูกมะละกอที่ถูกต้องแนะนำว่าไม่ควรทำเป็นแอ่ง ควรปลูกให้โคนต้นสูงกว่าผิวดินประมาณ 1 เซนติเมตร เพื่อป้องกันน้ำขังโดยเฉพาะหน้าฝน ไม่ว่าจะเป็นแปลงที่ยกร่องหรือไม่ยกร่องก็ตาม เพราะมะละกอจัดว่าเป็นพืชอวบน้ำ มีระบบรากอ่อนแอเหมือนผักหวานป่าในช่วงปลูกใหม่ๆ มะละกอเป็นพืชที่ชอบความชื้นพอประมาณ แต่ไม่ชอบแฉะ ชอบดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบดินเหนียว เพราะถ้าปลูกในสภาพดินเหนียวส่วนใหญ่จะเกิดความเสียหายที่ราก (รากเน่า) ใบเหลือง ใบเหี่ยว ร่วง ต้นโทรมและตายในที่สุด ยิ่งถ้าพื้นที่ปลูกเป็นดินเหนียวหากไม่มีการปรับปรุงบำรุงให้ดินมีสภาพร่วนซุย ไม่มีการบำรุงดินให้ระบายน้ำได้ดี ซึ่งวิธีการบำรุงดินตามสูตรที่ผมทำคือ นำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกผสมกับขี้เถ้าถ่านหรือแกลบดำอัตรา 40 กระสอบ/ไร่ (ปุ๋ยคอก 20 กระสอบ + แกลบดำหรือขี้เถ้าถ่าน 20 กระสอบ) หว่านทั่วแปลงแล้วไถพรวนให้เข้ากัน จากนั้นค่อยยกร่อง ก็จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องดินเสื่อมโทรมได้ อันนี้ก็คือวิธีแก้ปัญหาในระยะยาวที่ยั่งยืน ซึ่งจะทำให้มะละกอโตไวให้ผลผลิตสูงอย่างต่อเนื่องนานหลายปี




5. การให้น้ำหรือวางระบบน้ำผิดวิธี

    คือมีการวางระบบน้ำผิดหลักอย่างที่สวนผมเคยผิดพลาดมาจนทำให้มะละกอรากเน่าและตายไปก็หลายต้น คือจัดวางปีกผีเสื้อหรือน้ำหยดชิดโคนต้นมากเกิน น้ำไม่กระจายสู่รากฝอย เมื่อน้ำหยดใส่โคนต้นมะละกอนานๆทำให้บริเวณโคนต้นมีน้ำขังนานเกิดความชื้นมากเกินไปทำให้รากบริเวณน้ำเน่าเสียหาย สุดท้ายก็เกิดอาการใบเหลือง ใบเหี่ยว และตายในที่สุด การให้น้ำมะละกอที่ดีที่สุดคือการให้น้ำด้วยระบบสปริงเกอร์ หรือถ้าให้น้ำด้วยมินิสเปรย์ปีกผีเสื้อ ก็ควรติดให้ห่างโคนต้นมะละกอประมาณ 10 เซนติเมตร และที่สำคัญควรเร่งกำลังเครื่องสูบน้ำ ให้น้ำกระจายตัวในรัศมีกว้างออกไปรอบโคนต้นมะละกอ เพื่อให้รากฝอยที่อยู่โดยรอบต้นมะละกอได้รับความชุ่มชื้นเท่าๆกัน



    
   นี่ก็คือวิธีแก้ปัญหาหลักๆที่ผมได้รวบรวมจากประสบการณ์จริงที่ได้ปลูกมะละกอมา เป็นวิธีแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานอย่างง่ายๆที่ทุกคนสามารถทำได้ไม่ยุ่งยาก นำมาบอกเล่าสู่กันฟังถือว่าประดับความรู้นะครับ.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การสังเกตมะละกอต้นใหน..? ต้นตัวผู้..ต้นตัวเมีย..หรือต้นกระเทย

เคล็ดลับสังเกตเพศมะละกอ ต้นมะละกอแบ่งออกเป็น 3 เพศ   คือ ต้นตัวผู้ ต้นตัวเมียและต้นสมบูรณ์เพศ หรือเรียกอีกอย่างว่ามะละกอต้นกระเทย โดยทั่วไปจะสังเกตเพศได้เมื่อต้นมะละกอ ออกดอกแล้วเท่านั้น ขณะนี้ยังไม่มีวิธีการใดที่จะบอกเพศมะละกอในขณะที่ยังเป็นต้นกล้าเล็ก ๆ หรือก่อนที่มะละกอออกดอกได้ *** เพศของดอกมะละกอมีตัวถ่ายทอดพันธุกรรม คือ ยีนส์เพียงคู่เดียวเป็นตัวควบคุม มีวิธีการสังเกตดังนี้ เพศมะละกอ 1. มะละกอต้นตัวผู้   มีช่อดอกยาวแตกแขนงเป็นสาย 70-120 เซนติเมตร ดอกบนช่อเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่มีอวัยวะเพศเมียปรากฏอยู่แต่ไม่ทำหน้าที่ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวหรือครีมโคนกลีบเป็นหลอด ปลายกลีบแยกกัน 5 แฉก บริเวณโคนติดกัน กลีบที่แยกกันนั้นจะมีอับเกสรตัวผู้สีเหลือง 10 ชุด   ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และช่วงแสงต่อวันน้อย รังไข่ของดอกมะละกอต้นตัวผู้อาจเจริญพัฒนาติดเป็นผล หลังจากรับการถ่ายละอองเกสรตัวผู้ได้ มะละกอต้นตัวผู้นี้ปกติไม่ให้ผลคุ้มค่าการลงทุน ควรทำการตัดทิ้ง ดอกมะละกอตัวผู้ 2. มะละกอต้นตัวเมีย   จะเป็นต้นตัวเมียที่แท้จริง โดยมีช่อดอกยาวปาน

วิธีตัดต้นมะละกอ หรือ "ทำสาวมะละกอ" ให้ได้ต้นเตี้ย ติดลูกดก

พบกันอีกแล้วครับ..กับบทความเกษตรดีๆ รวมไปถึงเทคนิคเด็ด เคล็ดไม่ลับในการทำเกษตร ที่ผมนำมาฝากโดยเฉพาะสำหรับคนที่ปลูกมะละกอ ไม่ว่าจะเพื่อการค้าหรือว่ากันในเชิงพาณิชย์นะครับ ทำสาวมะละกอ เรื่องราวที่ผมจะนำมาบอกเล่าให้ฟังในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งวิธีในการดูแล และยืดอายุมะละกอในสวนของเรา หรือเรียกง่ายๆก็คือการทำสาวมะละกอ ให้ได้ต้นเตี้ย ติดลูกดก มีวิธีง่ายๆดังนี้ครับ หลังจากเราเก็บผลผลิตมะละกอชุดแรกหรือคอแรกไปแล้ว (ต้นมะละกออายุประมาณ 1 หรือ 2  ปี) ให้เราตัดต้นทิ้ง 2 ส่วน เหลือไว้ส่วนเดียว (จากโคนต้นขึ้นมา) ในการตัดให้ตัดเฉียงด้วยเลื่อยหรือมีดคมๆ จากนั้นก็คลุมด้วยถุงหรือแก้วพลาสติกเพื่อกันไม่ให้น้ำเข้า เสร็จแล้วให้บำรุงต้นด้วยมูลสัตว์เก่า หรือปุ๋ยสูตร 46-0-0 ประมาณ 1 ช้อนแกง/ต้น เพื่อเร่งการแตกยอด สุดท้ายก็รดน้ำให้ชุ่่ม คลุมด้วยเศษฟางหรือใบไม้แห้ง เพื่อเก็บรักษาความชื้นเป็นอันเสร็จครับ ทำสาวมะละกอ ต้นเตี้ย ลูกดก ด้วยวิธีง่ายๆเพียงเท่านี้  ผ่านไปประมาณ 3 สัปดาห์แขนงข้างต้นก็จะเจริญเติบโตเป็นลำต้นใหม่ที่พร้อมให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ในรุ่นต่อไปๆครับ