ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

มะละกอยักษ์ “เรดแคริเบี้ยน” มะละกอสายพันธุ์ใหม่

มะละกอยักษ์ เรดแคริเบี้ยน

มะละกอยักษ์ เรดแคริเบี้ยนมะละกอสายพันธุ์ใหม่
สวัสดีครับเพื่อนๆคนรักเกษตรทุกท่าน สำหรับวันนี้ขออนุญาตนำเสนอมะละกออีกหนึ่งสายพันธุ์ ที่ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรจังหวัดพิจิตร ได้นำเมล็ดพันธุ์มาจากประเทศทางแถบอเมริกากลาง และนำมาคัดเลือกพันธุ์ซึ่งใช้เวลานานกว่า 10 ปี จนประสบผลสำเร็จ มีรายละเอียดดังนี้ครับ
มะละกอยักษ์ เรดแคริเบี้ยนมะละกอสายพันธุ์ใหม่ จะมีทรงผลคล้ายกับมะละกอเรดมาราดอล์ หรือที่บ้านเราเรียก มะละกอฮอลแลนด์ หรือปลักไม้ลาย แต่จะมีขนาดของผลใหญ่กว่ามาก คือมีขนาดผลใหญ่กว่าเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว น้ำหนักผลเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3-5 กิโลกรัม เป็นมะละกอที่มีเนื้อหนาและมีสีแดงส้ม และรสชาติหวานเหมือนมะละกอแขกดำ
เนื้อส่วนในของ "มะละกอยักษ์ เรดแคริเบี้ยน"
จากการปลูกทดสอบในแปลงพบว่า ต้นมะละกอยักษ์ เรดแคริเบี้ยนมีความทนทานต่อโรคไวรัสจุดวงแหวนได้ดีกว่ามะละกอสายพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกเปรียบเทียบกันในแปลง ลำต้นมะละกอยักษ์ เรดแคริเบี้ยนจะมีขนาดใหญ่ และมีความแข็งแรงอย่างเห็นได้ชัด ออกดอกและติดผลมีดกมาก ผลมีขนาดใหญ่ เป็นมะละกอที่มีเปลือกหนาประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร ซึ่งเป็นผลดีในการขนส่งระยะไกล สามารถนำมาบริโภคได้ทั้งผลสุกและผลดิบ โดยเฉพาะผลสุกจะมีรสชาติหวานหอม อร่อยมากๆครับ ส่วนผลดิบใช้ทำส้มตำก็กรอบอร่อยไม่แพ้กัน และที่สำคัญเป็นมะละกอสายพันธุ์ที่ทนทานต่อโรคไวรัสจุดวงแหวนได้เป็นอย่างดี และทางชมรมเผยแพร่ฯ ได้ทดลองตัดต้นทำสาวให้มะละกอยักษ์ เรดแคริเบี้ยนคือทำให้ต้นเตี้ยเหมือนต้นที่ปลูกใหม่ และส่งผลต่อการดูแลรักษาที่ง่ายขึ้น การจัดการง่ายขึ้น เก็บผลผลิตง่าย และยังได้ต้นแม่พันธุ์เดิม โดยไม่ต้องปลูกใหม่ทุกปี และช่วยเก็บรักษาต้นแม่เอาไว้ได้นานอีกหลายปี ยกตัวอย่างต้นแม่พันธุ์มะละกอยักษ์ เรดแคริเบี้ยนที่ชมรมเผยแพร่ฯ ปลูกและตัดต้นทำสาวมีอายุยืน มีผลผลิตให้เก็บต่อเนื่องนานถึง 4 ปีทีเดียว หลังจากตัดต้นทำสาวเพียง 3-4 เดือน ยอดใหม่มะละกอยักษ์ เรดแคริเบี้ยนจะเริ่มออกดอกติดผลต่อไป

การเตรียมดินและปลูก มะละกอยักษ์ เรดแคริเบี้ยน
สำหรับการเตรียมดินและปลูก มะละกอยักษ์ เรดแคริเบี้ยนถ้าสภาพดินปลูกมีค่า pH ต่ำกว่า 6.0 ให้หว่านปูนขาวหรือปูนโดโลไมท์ ในอัตรา 200-300 กิโลกรัม/ไร่ คลุกดินโดยการไถพรวน แล้วตากทิ้งไว้ 10-15 วัน เพื่อเป็นการทำลายเชื้อโรค-แมลงศัตรู และกำจัดวัชพืชไปพร้อมๆ กัน หลังจากนั้น ไถยกร่องเป็นลอนลูกฟูก สูง 30-50 เซนติเมตร กว้าง 2.5-3 เมตร การยกร่องดังกล่าว เพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณแปลง ให้แปลงปลูกระบายน้ำดี ในการเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมกลางร่องปลูก ขนาด 30x30x30 เซนติเมตร ควรจะพรวนดินเป็นหลังเต่า ตอนพรวนก็ให้ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า 3-5 กิโลกรัม ผสมดินในหลุมปลูก รดน้ำให้ชื้นและยุบตัวดี ระหว่างหลุม 2.5-3 เมตร คลุมบริเวณหลุมปลูกด้วยฟางข้าว ทิ้งไว้ 7-10 วัน จึงปลูกได้ หรือจะปลูกก่อน แล้วคลุมฟางทีหลังก็ได้ แต่ในปัจจุบันบางสวนก็ใช้พลาสติกคลุมแปลง เพราะลดค่าแรงและเวลาการทำหญ้ากำจัดวัชพืช ที่สำคัญแปลงปลูกจะมีความชื้นอย่างสม่ำเสมอ
วิธีการเพาะต้นกล้ามะละกอยักษ์ เรดแคริเบี้ยน
สำหรับเคล็ดลับเพาะเมล็ดมะละกอให้งอกดีและสม่ำเสมอ รศ.ดร. กวิศร์ วานิชกุล ได้ให้ข้อมูลว่า การเพาะเมล็ดมะละกอให้งอกดีสม่ำเสมอนั้น ให้นำเมล็ดมะละกอแช่น้ำ 1-2 วัน โดยในช่วงวันแรกให้เปลี่ยนน้ำอย่างน้อย วันละ 1-2 ครั้ง หลังจากนั้น ให้เปลี่ยนน้ำถี่ขึ้น เนื่องจากเมล็ดมะละกอมีการหายใจมากขึ้น ทำให้ออกซิเจนในน้ำเหลือน้อยลง หากแช่น้ำแล้วไม่เปลี่ยนน้ำเลยก็จะเหลือออกซิเจนในน้ำน้อย เมล็ดมะละกอนั้นก็จะเกิดการหมักจนเน่าได้ ในวันที่ 3 ให้นำเมล็ดมะละกอนั้นห่อด้วยผ้าเปียกน้ำหมาดๆ นำผ้าใส่ไว้ในกล่องพลาสติกหรือกระติกน้ำเก่า และมีการพรมน้ำอยู่เรื่อยๆ ก็ได้ หากแช่เมล็ดมะละกอในน้ำดังกล่าวแล้ว จะทำให้ได้ต้นกล้ามะละกอที่งอกได้ดีและโตสม่ำเสมอกันหรือหากจะลดความยุ่งยากและยังไม่มีความชำนาญในการเพาะกล้า บางท่านก็อาจจะเลือกใช้วิธีของศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยงจังหวัดสุพรรณบุรี แนะนำว่า ให้แช่เมล็ดพันธุ์มะละกอในน้ำอุ่น (น้ำธรรมดา 1 ส่วน ผสมกับน้ำร้อน 1 ส่วน = น้ำอุ่น) ทิ้งไว้ 1 คืน เช้าขึ้นมานำเมล็ดมะละกอหยอดลงปลูกในถุงดำขนาดเล็กที่เตรียมไว้ โดยอาจจะใช้วัสดุ เช่น ขี้เถ้าแกลบดำ 1 ส่วน ผสมกับปุ๋ยหมัก หรือ ดิน 1 ส่วน หยอดเมล็ดมะละกอถุงละ 3 เมล็ด จากนั้นรดน้ำที่ผสมยาป้องกัน กำจัดเชื้อรา เช่น เมทาแล็กซิล รดให้เพื่อช่วยป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่า และผสมยาฆ่าแมลงเพื่อป้องกันมดคาบเมล็ดมะละกอที่เพาะไว้ เช่น เซฟวิน -85 วางถุงดำไว้ใต้ซาแรนพรางแสง 60% รดน้ำทุกเช้า วันละ 1 ครั้งจากนั้น อีก 7-10 วัน เมล็ดมะละกอจะเริ่มงอก เมื่อมีใบจริงได้ 2 ใบ ให้นำซาแรนออก ให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดเต็มที่เพื่อเป็นการปรับตัว ในช่วงที่ต้นกล้าเริ่มงอกควรฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดเชื้อรา พวกแมนโคเซบผสมกับยาฆ่าแมลง เช่น เซฟวิน -85 และสารจับใบพรีมาตรอน จากนั้นฉีดพ่นให้ทุกๆ 7 วัน เป็นการป้องกันโรคและแมลงทำลาย จากนั้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ ต้นกล้ามะละกอก็สามารถย้ายปลูกลงแปลงไว้ได้ หรือเมื่อต้นกล้าอายุ 45 วัน จึงย้ายลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ ไม่ควรปลูกต้นกล้ามะละกอลึกจะทำให้รากเน่าในได้

การใส่ปุ๋ยระยะก่อนติดผล
สำหรับการใส่ปุ๋ยระยะก่อนติดผล ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2-3 กิโลกรัม/หลุม และใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 12-24 -12 เดือนละครั้ง ครั้งละ 100-150 กรัม/หลุม หลังติดผล ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2-3 กิโลกรัม/หลุม และใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 อัตรา 150 กรัม/หลุม เดือนละครั้ง วิธีการให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ทางดิน ให้หว่านลงดินบริเวณรัศมีทรงพุ่มของมะละกอ แล้วรดน้ำตาม อย่าใส่ปุ๋ยชิดโคนต้นมะละกอ เพราะจะทำให้มะละกอเสียหายได้หลังจากปลูกต้นกล้ามะละกอไปได้ประมาณ 2-3 เดือน ต้นมะละกอจะเริ่มออกดอก ให้เกษตรกรสังเกตดูการออกดอกของต้นมะละกอภายในหลุมทั้ง 3 ต้น ว่าต้นใดเป็นต้นสมบูรณ์เพศ หรือต้นกะเทย (ผลยาว) ให้คัดต้นสมบูรณ์เพศหรือต้นกะเทยไว้เพียงต้นเดียว สำหรับต้นตัวเมีย (ผลป้อม) ถ้าไม่ต้องการก็ตัดทิ้ง เพราะผลผลิตที่ออกมาจะเป็นลูกป้อมและถ้าเป็นตัวผู้ให้ตัดทิ้งเลย โดยปกติแล้วต้นดอกสมบูรณ์เพศหรือดอกกะเทยนั้น ตลาดจะต้องการมากที่สุด โดยจากการสังเกตการณ์ออกดอกของมะละกอยักษ์ เรดแคริเบี้ยนพบว่ามีเปอร์เซ็นต์การออกดอกเป็นต้นกะเทย (ผลยาว) ค่อนข้างสูง ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ มีการพบต้นที่ให้ดอกตัวเมีย (ผลกลม) เพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ส่วนต้นตัวผู้ยังไม่พบในแปลงปลูกการบำรุงรักษา มะละกอยักษ์ เรดแคริเบี้ยนในฤดูแล้งต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอตลอด อย่าให้ดินแห้ง ในฤดูฝน ถ้าฝนทิ้งช่วงต้องให้น้ำ แต่ถ้าฝนตกหนักจะต้องดูแลการระบายน้ำไม่ให้มีน้ำขังบริเวณโคนต้น โดยเสริมร่องปลูกให้สูงอยู่เสมอ ในช่วง 1-2 เดือนแรก หลังปลูกมักพบโรครากเน่าโคนเน่าจึงควรราดโคนต้นมะละกอด้วยสารอาลีเอท ในช่วงฝนตกชุกก็เช่นเดียวกันจะมีโรครากเน่าโคนเน่าระบาดมาก แม้มะละกอจะออกดอกหรือติดผลแล้ว จำเป็นต้องราดโคนด้วยสารอาลีเอท ทุกๆ 15 วันเป็นที่สังเกตว่า การหว่านเชื้อไตรโคเดอร์ม่าก่อนปลูกและหว่านซ้ำทุกๆ 4 เดือน จะช่วยลดการใช้สารเคมีลงกว่าครึ่ง

การกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกมะละกอยักษ์ “เรดแคริเบี้ยน”
สำหรับการกำจัดวัชพืชไม่ควรใช้จอบถางบริเวณโคนต้น เพราะรากจะถูกรากตัดขาด ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตหรือทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าได้ แต่ต้องกำจัดวัชพืชบริเวณใต้ทรงพุ่มไม่ให้มีวัชพืชขึ้น นอกทรงพุ่มต้องใช้เครื่องตัดหญ้าหรือมีดตัดให้สั้น การคลุมโคนต้นมะละกอ ใช้ฟางข้าวคลุมโคนต้นมะละกอให้หนา และหมั่นเติมฟางอยู่เสมอ จะช่วยลดวัชพืช เพราะการคลุมฟางจะทำให้เมล็ดหญ้าไม่งอกและรักษาความชื้นในดิน หรือหากเป็นสวนมะละกอขนาดใหญ่ มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาป้องกันกำจัดวัชพืชในการใช้ ต้องมีความระมัดระวัง มะละกออ่อนแอต่อยาฆ่าหญ้าในการปลูกมะละกอ ไม่ควรใช้ยาฆ่าหญ้าเลยเป็นดีที่สุด ซึ่งในทางปฏิบัติจริง การใช้สารกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกมะละกอมีข้อจำกัด และเกษตรกรผู้ปลูกจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะปัญหาเรื่องการใช้ยาฆ่าหญ้าในแปลงปลูกมะละกอ ไม่ว่าจะเป็นสารฆ่าหญ้าในกลุ่มไกลโฟเสท และสาร 2,4-ดี ละอองยาสามารถฟุ้งกระจายไปได้นับร้อยเมตร เมื่อต้นมะละกอได้สัมผัสสารฆ่าหญ้า จะทำให้ใบหงิก และมีลักษณะอาการเหมือนกับโรคไวรัสจุดวงแหวนที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรหลายรายเข้าใจผิด ว่ามะละกอที่ปลูกเป็นโรคจุดวงแหวน แต่ความจริงแล้วเกิดจากละอองของยาฆ่าหญ้า ดังนั้น เกษตรกรที่ปลูกมะละกอจะต้องตระหนักเป็นพิเศษ ไม่ควรฉีดพ่นสารฆ่าหญ้าในแปลงปลูกมะละกอ โดยเฉพาะช่วงต้นมะละกอยังต้นเล็ก ไม่แนะนำให้ใช้ยาป้องกันกำจัดวัชพืชใดๆ เพราะจะทำให้ต้นมะละกอเสียหายได้ง่าย แต่ถ้าต้นมะละกอโตแล้ว ก็สามารถเลือกใช้ยาป้องกันกำจัดวัชพืชได้ แต่ต้องระวังละอองยาอย่าให้โดนใบและผลโดยสวนมะละกอหลายๆ สวนขณะนี้ นิยมเลือกใช้ บาสต้า-เอ๊กซ์ซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้าที่ค่อนข้างมีความปลอดภัยกับมะละกอโดยเฉพาะระบบราก เพราะไม่ถูกดูดซับและสะสมในดิน จึงปลอดพิษตกค้าง สามารถกำจัดวัชพืชทั้งใบแคบและใบกว้าง มะละกอเริ่มเก็บเกี่ยวได้ เมื่ออายุได้ 8-10 เดือน จะเก็บเกี่ยวเมื่อผลมีสีผิวเปลี่ยนจากเขียวเป็นเขียวอ่อน หรือปรากฏแต้มสีเหลืองบริเวณปลายผล

ที่มา: ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จังหวัดพิจิตร โทร. (056) 613-021, (081) 886-7398

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มะละกอใบเหลือง ต้นโทรม เกิดจากอะไร

    นี่ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามที่หลายท่านได้สอบกันเข้ามาในเรื่องของการปลูกมะละกอ โดยเฉพาะปัญหามะละกอใบเหลืองในระยะปลูกใหม่ หรือปลูกไปสักระยะเกิดอาการใบเหลือง ใบร่วง ต้นโทรม และตายในที่สุด ผมจึงรวบรวมข้อมูลจากประสบการณ์จริงที่ทำสวนเกษตรผสมผสานโดยเฉพาะการปลูกมะละกอฮอลแลนด์ที่ผ่านมาก็ร่วม 4 ปี ก็พอมีความรู้บ้าง     ขอนำเรื่องราวดีๆมาเล่าให้ฟังพอเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา ซึ่งสาเหตุหลักๆที่มะละกอเกิดอาการใบเหลืองหลักๆก็มีอยู่ 5 สาเหตุคือ 1. ขาดไนโตรเจน          ข้อนี้ถือว่าเป็นหัวใจหลักที่คนทำเกษตรต้องรู้เกี่ยวกับการขาดธาตุอาหารหลักของพืชโดยเฉพาะ N-P-K เพราะถ้าพืชขาดธาตุอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะแสดงอาการให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนอย่างเช่น ถ้าขาดธาตุ ไนโตรเจน ใบของพืชจะมีมีสีเขียวซีดแล้วจะค่อยๆเหลือง โดยจะสังเกตได้จากใบแก่ที่อยู่ด้านล่างของพืช ต้นจะแคระแกร็นและโตช้า ในกรณีพืชขาด ฟอสฟอรัส บนแผ่นใบจะมีสีม่วงแดงขอบใบจะใหม่และม้วนงอ ต้นพืชจะผอมสูงและโตช้า ส่วนในกรณีที่พืชขาด โพแทสเซียม   ลักษณะใบที่อยู่ด้านล่างจะมีจุดสีน้ำตาล ใบแห้งเป็นมันขอบใบม้วนงอ พืชจะโตช้าผลสุกเสมอไม่เท่ากัน อันน

การสังเกตมะละกอต้นใหน..? ต้นตัวผู้..ต้นตัวเมีย..หรือต้นกระเทย

เคล็ดลับสังเกตเพศมะละกอ ต้นมะละกอแบ่งออกเป็น 3 เพศ   คือ ต้นตัวผู้ ต้นตัวเมียและต้นสมบูรณ์เพศ หรือเรียกอีกอย่างว่ามะละกอต้นกระเทย โดยทั่วไปจะสังเกตเพศได้เมื่อต้นมะละกอ ออกดอกแล้วเท่านั้น ขณะนี้ยังไม่มีวิธีการใดที่จะบอกเพศมะละกอในขณะที่ยังเป็นต้นกล้าเล็ก ๆ หรือก่อนที่มะละกอออกดอกได้ *** เพศของดอกมะละกอมีตัวถ่ายทอดพันธุกรรม คือ ยีนส์เพียงคู่เดียวเป็นตัวควบคุม มีวิธีการสังเกตดังนี้ เพศมะละกอ 1. มะละกอต้นตัวผู้   มีช่อดอกยาวแตกแขนงเป็นสาย 70-120 เซนติเมตร ดอกบนช่อเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่มีอวัยวะเพศเมียปรากฏอยู่แต่ไม่ทำหน้าที่ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวหรือครีมโคนกลีบเป็นหลอด ปลายกลีบแยกกัน 5 แฉก บริเวณโคนติดกัน กลีบที่แยกกันนั้นจะมีอับเกสรตัวผู้สีเหลือง 10 ชุด   ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และช่วงแสงต่อวันน้อย รังไข่ของดอกมะละกอต้นตัวผู้อาจเจริญพัฒนาติดเป็นผล หลังจากรับการถ่ายละอองเกสรตัวผู้ได้ มะละกอต้นตัวผู้นี้ปกติไม่ให้ผลคุ้มค่าการลงทุน ควรทำการตัดทิ้ง ดอกมะละกอตัวผู้ 2. มะละกอต้นตัวเมีย   จะเป็นต้นตัวเมียที่แท้จริง โดยมีช่อดอกยาวปาน

วิธีตัดต้นมะละกอ หรือ "ทำสาวมะละกอ" ให้ได้ต้นเตี้ย ติดลูกดก

พบกันอีกแล้วครับ..กับบทความเกษตรดีๆ รวมไปถึงเทคนิคเด็ด เคล็ดไม่ลับในการทำเกษตร ที่ผมนำมาฝากโดยเฉพาะสำหรับคนที่ปลูกมะละกอ ไม่ว่าจะเพื่อการค้าหรือว่ากันในเชิงพาณิชย์นะครับ ทำสาวมะละกอ เรื่องราวที่ผมจะนำมาบอกเล่าให้ฟังในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งวิธีในการดูแล และยืดอายุมะละกอในสวนของเรา หรือเรียกง่ายๆก็คือการทำสาวมะละกอ ให้ได้ต้นเตี้ย ติดลูกดก มีวิธีง่ายๆดังนี้ครับ หลังจากเราเก็บผลผลิตมะละกอชุดแรกหรือคอแรกไปแล้ว (ต้นมะละกออายุประมาณ 1 หรือ 2  ปี) ให้เราตัดต้นทิ้ง 2 ส่วน เหลือไว้ส่วนเดียว (จากโคนต้นขึ้นมา) ในการตัดให้ตัดเฉียงด้วยเลื่อยหรือมีดคมๆ จากนั้นก็คลุมด้วยถุงหรือแก้วพลาสติกเพื่อกันไม่ให้น้ำเข้า เสร็จแล้วให้บำรุงต้นด้วยมูลสัตว์เก่า หรือปุ๋ยสูตร 46-0-0 ประมาณ 1 ช้อนแกง/ต้น เพื่อเร่งการแตกยอด สุดท้ายก็รดน้ำให้ชุ่่ม คลุมด้วยเศษฟางหรือใบไม้แห้ง เพื่อเก็บรักษาความชื้นเป็นอันเสร็จครับ ทำสาวมะละกอ ต้นเตี้ย ลูกดก ด้วยวิธีง่ายๆเพียงเท่านี้  ผ่านไปประมาณ 3 สัปดาห์แขนงข้างต้นก็จะเจริญเติบโตเป็นลำต้นใหม่ที่พร้อมให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ในรุ่นต่อไปๆครับ