ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เผย 5 เคล็ดไม่ลับ!!..ปลูกมะละกอให้ได้ผลผลิตสูง

     บทความนี้เขียนจากประสบการณ์ของกระผมเองที่ได้ปลูกมะละกอฮอนแลนด์มาก็หลายรุ่น หลายฤดูกาล หลายสภาพพื้นดิน พอสรุปแนวทางที่จะทำให้ได้ผลผลิตสูง ผลผลิตมีคุณภาพ และที่สำคัญปลอดโรคอย่างง่ายๆ แต่ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่และรู้หลักธรรมชาติของพืชเศรษฐกิจชนิดนี้นิดหน่อยเท่านั้นเองครับ
     การที่จะปลูกมะละกอให้ได้ผลผลิตสูงจากที่ผมได้วิเคราะห์มาแบบไม่ได้อิงตาใดๆ ต้องมีองค์ประกอบครบ 5 อย่าง คือ ดินดี – น้ำได้ – สายพันธุ์เด่น – เอนต้น – ปลูกให้พ้นแนวแสงบดบัง ขออธิบายให้ฟังเป็นข้อๆ และในบทความนี้ขอยกตัวอย่างมะละกอฮอนแลนด์ในสวนผมเองนะครับ

มะละกอฮอนแลนด์
1. ดินดี คือต้องเลือกสภาพพื้นที่ปลูกของเราให้เหมาะสม ถ้าเป็นดินร่วนปนทรายจะดีมาก และดินแปลงปลูกต้องมีธาตุอาหารสมบูรณ์ ค่า PH (ค่ากรด-ด่าง) ของดินควรอยู่ที่ 6 - 7.5 สภาพพื้นที่ต้องไม่มีน้ำท่วมขัง เพราะมะละกอเป็นพืชที่ต้องการน้ำก็จริง แต่ไม่ชอบความชื้นแฉะหรือพื้นที่น้ำขัง หากเป็นที่เนินเราอาจทำการไถดะและไถแปร พร้อมวัดระยะปลูกได้เลย แต่ถ้าเป็นพื้นที่ราบควรยกร่องสูงประมาณ 50 เซนติเมตรหรือมากกว่านั้น และที่สำคัญที่สุด ควรปรับปรุงบำรุงดินก่อน ด้วยการใช้เศษขี้เถ้าแกลบที่เหลือจากเตาเผาถ่านประมาณ 40 กระสอบ/ไร่ หรือใช้ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักเก่าอัตรา 40 กระสอบ/ไร่ หรือมากกว่านั้นก็ได้ ทำการหว่านให้ทั่วแปลง จากนั้นก็ไถกลบด้วยผาน 3 (รถไถใหญ่) ทิ้งไว้ประมาณ 20 วัน ให้วัชพืชต้นเล็กๆงอกขึ้นมาก่อน จากนั้นก็ไถแปรด้วยผาน 7 (รถไถใหญ่) อีกครั้งทิ้งไว้ประมาณ 10 วันก็เตรียมยกร่องปลูกได้เลยครับ


2. น้ำได้ อันนี้หมายรวมถึงการดูแลที่ดีด้วย เพราะมะละกอฮอนแลนด์ถือว่าเป็นพืชที่ชอบน้ำชอบความชุ่มชื้น แต่ไม่ถึงกับแฉะจนเกินไป เพราะอาจทำให้รากเน่าได้ การให้น้ำต้องสม่ำเสมอโดยเฉพาะหน้าแล้งที่อากาศร้อนเกษตรกรมักประสบปัญหามะละกอดอกร่วงหรือเรียกว่าเกิดอาการขาดคอ ติดลูกทิ้งช่วง การให้น้ำที่ดีที่สุดคือการให้แบบสเปรย์สูงให้เป็นละอองฝอยจนถึงดอกมะละกอทุกๆ 1-2 วัน เหมือนการจำลองหน้าฝนให้ตลอด จะทำให้มะละติดลูกตลอดทั้งต้น ปัญหาดอกมะละกอร่วงก็จะหมดไป 
     นอกจากการเตรียมดินที่ดีแล้ว ควรให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยๆควรให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเคมีทุก 15 วันหลังปลูก ปริมาณมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นนะครับ 
    ในการปลูกมะละกอฮอนแลนด์เราควรดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่การเพาะเมล็ด และเริ่มใส่ปุ๋ยตั้งแต่ระยะที่เป็นต้นกล้าเล็กๆ คือหลังต้นกล้ามะละกอแตกใบอ่อนประมาณ 2 ใบ อาจใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 1 ช้อนแกงผสมน้ำ 20 ลิตร รดให้ทั่วทุก 10 วัน (หลังรดน้ำที่ผสมปุ๋ยควรใช้น้ำเปล่ารดตามไปด้วยเพื่อป้องกันใบไหม้) หรืออาจใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรหมักฮอร์โมนไข่ อัตรา 1 ช้อนแกงผสมน้ำรด 20 ลิตร หรือ 1 บัวรดน้ำรดก็ได้ ระยะหลังปลูก 1 เดือน อาจใช้ปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 อัตรา 1 ช้อนแกง/ต้น โรยรอบทรงพุ่ม หรือใช้สูตรประหยัดก็คือ ให้นำปุ๋ยสูตรเสมอดังกล่าวอัตรา 2 ช้อนแกง ผสมน้ำ 20 ลิตร รดทั้งต้น (การผสม 1 ครั้งจะรดมะละกอได้ 10 ต้น) พอหลังปลูกได้ประมาณ 3 เดือน มะละกอจะเริ่มติดผลเล็กๆ เป็นช่วงเวลาที่เราต้องแยกเพศให้เหลือเฉพาะต้นกะเทย หลังแยกเพศก็จะอยู่ในช่วงติดดอกออกผล ระยะนี้ควรใช้สูตร 8 – 24 – 24 อัตรา 1 – 2 ช้อนแกง/ต้น สลับกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักหว่านรอบทรงพุ่มตลอดอายุการเก็บเกี่ยว อันนี้ก็ต้องพิจารณาจากความสมบูรณ์ของต้นมะละกอด้วย ถ้าดินเราดีต้นมีความสมบูรณ์อยู่แล้วก็ใช้แค่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ปุ๋ยมูลค้างคาว หรือปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ด อัตราครึ่งกิโลกรัม/ต้น ด้วยการหว่านรอบทรงพุ่มทุก 15 วันก็พอนะครับ


3. สายพันธุ์เด่น หมายถึงเมล็ดพันธุ์หรือต้นพันธุ์ที่เรานำมาปลูกต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ สวนที่จำหน่ายต้องไม่มีประวัติโรคไว้รัสวงแหวนมะละกอ เพราะถ้าสวนไหนเกิดอาการของโรคนี้อาจต้องรื้อกันทั้งสวนเลยทีเดียว และที่สำคัญเมล็ดพันธุ์ที่จะนำมาเพาะต้องคัดจากต้นและผลมะละกอที่สมบูรณ์ คือต้องคัดจากผลเกรด A เท่านั้นเพื่อจะได้ต้นพันธุ์ที่แข็งแรงสมบูรณ์ตั้งแต่เริ่มแรกนั่นเองครับ


4. เอนต้น หมายถึงการทำให้ต้นมะละกอที่ปลูกเอนราบกับพื้นหรือเอียงแนว 15 องศาโดยประมาณ ควรทำในช่วงหลังปลูกประมาณ 2 – 3 เดือนก่อนแยกเพศ เพราะต้นมะละกอยังอ่อนจะทำให้เอนต้นง่าย วิธีการเอนต้นอาจใช้ไม้ปักสองด้านเป็นรูปตัว X หรืออาจใช้หลักปักแล้วมัดเชือกดึงให้เอน อันนี้ก็แล้วแต่วิธีการของแต่ละท่านนะครับ 


ข้อดีของการทำให้มะละกอต้นเอนคือ จะได้มะละกอต้นเตี้ย ทำให้รากฝอยกระจายตัวได้ดี รากหาอาหารได้ดี หมดปัญหาเรื่องรากเน่า เพราะรากจะกระจายตามผิวดินไม่ดิ่งลงลึกมาก ทำให้มะละกอติดลูกดก เก็บผลผลิตง่ายนั่นเองครับ


5. ปลูกให้พ้นแนวแสงบดบัง อันนี้หมายรวมถึงระยะปลูกด้วย เพราะมะละกอเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดอย่างสม่ำเสมอ และแสงแดดต้องส่องได้ทั่วถึง เพราะฉะนั้นพื้นที่ปลูกต้องไม่มีต้นไม้ใหญ่บดบัง โดยเฉพาะแนวแสงทางด้านทิศตะวันออกสำคัญมาก หากมีต้นไม้ใหญ่บดบังอาจทำให้การสังเคราะห์ด้วยแสงของมะละกอขาดประสิทธิภาพ ที่สำคัญทำให้ต้นมะละกอของเราเกิดการยืดต้นหาแสง แทนที่จะได้ต้นเตี้ยกลับได้ต้นสูงยาวแทนนั่นเอง การปลูกมะละกอในที่ราบโดยเฉพาะพื้นที่น้ำขังควรยกร่องให้สูงไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตรหรือมากกว่านั้น ส่วนระยะปลูกที่เหมาะสมที่สุดจากประสบการณ์ของผู้เขียนคือใช้ระยะห่างระหว่างแถว 3 เมตร ระยะห่างระหว่างต้น 2.5 – 3 เมตร (3 x 3 หรือ 3 x 2.5) ถือว่าเป็นระยะที่เหมาะสมที่สุด แต่ถ้าพื้นที่ปลูกอุดมสมบูรณ์มีธาตุอาหารเพียงพอ อาจใช้ระยะห่างมากกว่านี้นิดหน่อยก็ได้ เหตุผลที่ปลูกห่างก็เพื่อป้องกันทรงพุ่มชนกัน ทำให้มะละกอได้รับแสงอย่างเต็มที่ และที่สำคัญสามารถเอนต้นได้ง่าย สุดท้ายก็จะได้มะละกอต้นเตี้ยติดลูกดกนั่นเองครับ.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มะละกอใบเหลือง ต้นโทรม เกิดจากอะไร

    นี่ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามที่หลายท่านได้สอบกันเข้ามาในเรื่องของการปลูกมะละกอ โดยเฉพาะปัญหามะละกอใบเหลืองในระยะปลูกใหม่ หรือปลูกไปสักระยะเกิดอาการใบเหลือง ใบร่วง ต้นโทรม และตายในที่สุด ผมจึงรวบรวมข้อมูลจากประสบการณ์จริงที่ทำสวนเกษตรผสมผสานโดยเฉพาะการปลูกมะละกอฮอลแลนด์ที่ผ่านมาก็ร่วม 4 ปี ก็พอมีความรู้บ้าง     ขอนำเรื่องราวดีๆมาเล่าให้ฟังพอเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา ซึ่งสาเหตุหลักๆที่มะละกอเกิดอาการใบเหลืองหลักๆก็มีอยู่ 5 สาเหตุคือ 1. ขาดไนโตรเจน          ข้อนี้ถือว่าเป็นหัวใจหลักที่คนทำเกษตรต้องรู้เกี่ยวกับการขาดธาตุอาหารหลักของพืชโดยเฉพาะ N-P-K เพราะถ้าพืชขาดธาตุอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะแสดงอาการให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนอย่างเช่น ถ้าขาดธาตุ ไนโตรเจน ใบของพืชจะมีมีสีเขียวซีดแล้วจะค่อยๆเหลือง โดยจะสังเกตได้จากใบแก่ที่อยู่ด้านล่างของพืช ต้นจะแคระแกร็นและโตช้า ในกรณีพืชขาด ฟอสฟอรัส บนแผ่นใบจะมีสีม่วงแดงขอบใบจะใหม่และม้วนงอ ต้นพืชจะผอมสูงและโตช้า ส่วนในกรณีที่พืชขาด โพแทสเซียม   ลักษณะใบที่อยู่ด้านล่างจะมีจุดสีน้ำตาล ใบแห้งเป็นมันขอบใบม้วนงอ พืชจะโตช้าผลสุกเสมอไม่เท่ากัน อันน

การสังเกตมะละกอต้นใหน..? ต้นตัวผู้..ต้นตัวเมีย..หรือต้นกระเทย

เคล็ดลับสังเกตเพศมะละกอ ต้นมะละกอแบ่งออกเป็น 3 เพศ   คือ ต้นตัวผู้ ต้นตัวเมียและต้นสมบูรณ์เพศ หรือเรียกอีกอย่างว่ามะละกอต้นกระเทย โดยทั่วไปจะสังเกตเพศได้เมื่อต้นมะละกอ ออกดอกแล้วเท่านั้น ขณะนี้ยังไม่มีวิธีการใดที่จะบอกเพศมะละกอในขณะที่ยังเป็นต้นกล้าเล็ก ๆ หรือก่อนที่มะละกอออกดอกได้ *** เพศของดอกมะละกอมีตัวถ่ายทอดพันธุกรรม คือ ยีนส์เพียงคู่เดียวเป็นตัวควบคุม มีวิธีการสังเกตดังนี้ เพศมะละกอ 1. มะละกอต้นตัวผู้   มีช่อดอกยาวแตกแขนงเป็นสาย 70-120 เซนติเมตร ดอกบนช่อเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่มีอวัยวะเพศเมียปรากฏอยู่แต่ไม่ทำหน้าที่ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวหรือครีมโคนกลีบเป็นหลอด ปลายกลีบแยกกัน 5 แฉก บริเวณโคนติดกัน กลีบที่แยกกันนั้นจะมีอับเกสรตัวผู้สีเหลือง 10 ชุด   ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และช่วงแสงต่อวันน้อย รังไข่ของดอกมะละกอต้นตัวผู้อาจเจริญพัฒนาติดเป็นผล หลังจากรับการถ่ายละอองเกสรตัวผู้ได้ มะละกอต้นตัวผู้นี้ปกติไม่ให้ผลคุ้มค่าการลงทุน ควรทำการตัดทิ้ง ดอกมะละกอตัวผู้ 2. มะละกอต้นตัวเมีย   จะเป็นต้นตัวเมียที่แท้จริง โดยมีช่อดอกยาวปาน

วิธีตัดต้นมะละกอ หรือ "ทำสาวมะละกอ" ให้ได้ต้นเตี้ย ติดลูกดก

พบกันอีกแล้วครับ..กับบทความเกษตรดีๆ รวมไปถึงเทคนิคเด็ด เคล็ดไม่ลับในการทำเกษตร ที่ผมนำมาฝากโดยเฉพาะสำหรับคนที่ปลูกมะละกอ ไม่ว่าจะเพื่อการค้าหรือว่ากันในเชิงพาณิชย์นะครับ ทำสาวมะละกอ เรื่องราวที่ผมจะนำมาบอกเล่าให้ฟังในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งวิธีในการดูแล และยืดอายุมะละกอในสวนของเรา หรือเรียกง่ายๆก็คือการทำสาวมะละกอ ให้ได้ต้นเตี้ย ติดลูกดก มีวิธีง่ายๆดังนี้ครับ หลังจากเราเก็บผลผลิตมะละกอชุดแรกหรือคอแรกไปแล้ว (ต้นมะละกออายุประมาณ 1 หรือ 2  ปี) ให้เราตัดต้นทิ้ง 2 ส่วน เหลือไว้ส่วนเดียว (จากโคนต้นขึ้นมา) ในการตัดให้ตัดเฉียงด้วยเลื่อยหรือมีดคมๆ จากนั้นก็คลุมด้วยถุงหรือแก้วพลาสติกเพื่อกันไม่ให้น้ำเข้า เสร็จแล้วให้บำรุงต้นด้วยมูลสัตว์เก่า หรือปุ๋ยสูตร 46-0-0 ประมาณ 1 ช้อนแกง/ต้น เพื่อเร่งการแตกยอด สุดท้ายก็รดน้ำให้ชุ่่ม คลุมด้วยเศษฟางหรือใบไม้แห้ง เพื่อเก็บรักษาความชื้นเป็นอันเสร็จครับ ทำสาวมะละกอ ต้นเตี้ย ลูกดก ด้วยวิธีง่ายๆเพียงเท่านี้  ผ่านไปประมาณ 3 สัปดาห์แขนงข้างต้นก็จะเจริญเติบโตเป็นลำต้นใหม่ที่พร้อมให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ในรุ่นต่อไปๆครับ