ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เผย 5 เคล็ดไม่ลับ!!..ปลูกมะละกอให้ได้ผลผลิตสูง

     บทความนี้เขียนจากประสบการณ์ของกระผมเองที่ได้ปลูกมะละกอฮอนแลนด์มาก็หลายรุ่น หลายฤดูกาล หลายสภาพพื้นดิน พอสรุปแนวทางที่จะทำให้ได้ผลผลิตสูง ผลผลิตมีคุณภาพ และที่สำคัญปลอดโรคอย่างง่ายๆ แต่ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่และรู้หลักธรรมชาติของพืชเศรษฐกิจชนิดนี้นิดหน่อยเท่านั้นเองครับ
     การที่จะปลูกมะละกอให้ได้ผลผลิตสูงจากที่ผมได้วิเคราะห์มาแบบไม่ได้อิงตาใดๆ ต้องมีองค์ประกอบครบ 5 อย่าง คือ ดินดี – น้ำได้ – สายพันธุ์เด่น – เอนต้น – ปลูกให้พ้นแนวแสงบดบัง ขออธิบายให้ฟังเป็นข้อๆ และในบทความนี้ขอยกตัวอย่างมะละกอฮอนแลนด์ในสวนผมเองนะครับ

มะละกอฮอนแลนด์
1. ดินดี คือต้องเลือกสภาพพื้นที่ปลูกของเราให้เหมาะสม ถ้าเป็นดินร่วนปนทรายจะดีมาก และดินแปลงปลูกต้องมีธาตุอาหารสมบูรณ์ ค่า PH (ค่ากรด-ด่าง) ของดินควรอยู่ที่ 6 - 7.5 สภาพพื้นที่ต้องไม่มีน้ำท่วมขัง เพราะมะละกอเป็นพืชที่ต้องการน้ำก็จริง แต่ไม่ชอบความชื้นแฉะหรือพื้นที่น้ำขัง หากเป็นที่เนินเราอาจทำการไถดะและไถแปร พร้อมวัดระยะปลูกได้เลย แต่ถ้าเป็นพื้นที่ราบควรยกร่องสูงประมาณ 50 เซนติเมตรหรือมากกว่านั้น และที่สำคัญที่สุด ควรปรับปรุงบำรุงดินก่อน ด้วยการใช้เศษขี้เถ้าแกลบที่เหลือจากเตาเผาถ่านประมาณ 40 กระสอบ/ไร่ หรือใช้ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักเก่าอัตรา 40 กระสอบ/ไร่ หรือมากกว่านั้นก็ได้ ทำการหว่านให้ทั่วแปลง จากนั้นก็ไถกลบด้วยผาน 3 (รถไถใหญ่) ทิ้งไว้ประมาณ 20 วัน ให้วัชพืชต้นเล็กๆงอกขึ้นมาก่อน จากนั้นก็ไถแปรด้วยผาน 7 (รถไถใหญ่) อีกครั้งทิ้งไว้ประมาณ 10 วันก็เตรียมยกร่องปลูกได้เลยครับ


2. น้ำได้ อันนี้หมายรวมถึงการดูแลที่ดีด้วย เพราะมะละกอฮอนแลนด์ถือว่าเป็นพืชที่ชอบน้ำชอบความชุ่มชื้น แต่ไม่ถึงกับแฉะจนเกินไป เพราะอาจทำให้รากเน่าได้ การให้น้ำต้องสม่ำเสมอโดยเฉพาะหน้าแล้งที่อากาศร้อนเกษตรกรมักประสบปัญหามะละกอดอกร่วงหรือเรียกว่าเกิดอาการขาดคอ ติดลูกทิ้งช่วง การให้น้ำที่ดีที่สุดคือการให้แบบสเปรย์สูงให้เป็นละอองฝอยจนถึงดอกมะละกอทุกๆ 1-2 วัน เหมือนการจำลองหน้าฝนให้ตลอด จะทำให้มะละติดลูกตลอดทั้งต้น ปัญหาดอกมะละกอร่วงก็จะหมดไป 
     นอกจากการเตรียมดินที่ดีแล้ว ควรให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยๆควรให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเคมีทุก 15 วันหลังปลูก ปริมาณมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นนะครับ 
    ในการปลูกมะละกอฮอนแลนด์เราควรดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่การเพาะเมล็ด และเริ่มใส่ปุ๋ยตั้งแต่ระยะที่เป็นต้นกล้าเล็กๆ คือหลังต้นกล้ามะละกอแตกใบอ่อนประมาณ 2 ใบ อาจใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 1 ช้อนแกงผสมน้ำ 20 ลิตร รดให้ทั่วทุก 10 วัน (หลังรดน้ำที่ผสมปุ๋ยควรใช้น้ำเปล่ารดตามไปด้วยเพื่อป้องกันใบไหม้) หรืออาจใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรหมักฮอร์โมนไข่ อัตรา 1 ช้อนแกงผสมน้ำรด 20 ลิตร หรือ 1 บัวรดน้ำรดก็ได้ ระยะหลังปลูก 1 เดือน อาจใช้ปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 อัตรา 1 ช้อนแกง/ต้น โรยรอบทรงพุ่ม หรือใช้สูตรประหยัดก็คือ ให้นำปุ๋ยสูตรเสมอดังกล่าวอัตรา 2 ช้อนแกง ผสมน้ำ 20 ลิตร รดทั้งต้น (การผสม 1 ครั้งจะรดมะละกอได้ 10 ต้น) พอหลังปลูกได้ประมาณ 3 เดือน มะละกอจะเริ่มติดผลเล็กๆ เป็นช่วงเวลาที่เราต้องแยกเพศให้เหลือเฉพาะต้นกะเทย หลังแยกเพศก็จะอยู่ในช่วงติดดอกออกผล ระยะนี้ควรใช้สูตร 8 – 24 – 24 อัตรา 1 – 2 ช้อนแกง/ต้น สลับกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักหว่านรอบทรงพุ่มตลอดอายุการเก็บเกี่ยว อันนี้ก็ต้องพิจารณาจากความสมบูรณ์ของต้นมะละกอด้วย ถ้าดินเราดีต้นมีความสมบูรณ์อยู่แล้วก็ใช้แค่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ปุ๋ยมูลค้างคาว หรือปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ด อัตราครึ่งกิโลกรัม/ต้น ด้วยการหว่านรอบทรงพุ่มทุก 15 วันก็พอนะครับ


3. สายพันธุ์เด่น หมายถึงเมล็ดพันธุ์หรือต้นพันธุ์ที่เรานำมาปลูกต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ สวนที่จำหน่ายต้องไม่มีประวัติโรคไว้รัสวงแหวนมะละกอ เพราะถ้าสวนไหนเกิดอาการของโรคนี้อาจต้องรื้อกันทั้งสวนเลยทีเดียว และที่สำคัญเมล็ดพันธุ์ที่จะนำมาเพาะต้องคัดจากต้นและผลมะละกอที่สมบูรณ์ คือต้องคัดจากผลเกรด A เท่านั้นเพื่อจะได้ต้นพันธุ์ที่แข็งแรงสมบูรณ์ตั้งแต่เริ่มแรกนั่นเองครับ


4. เอนต้น หมายถึงการทำให้ต้นมะละกอที่ปลูกเอนราบกับพื้นหรือเอียงแนว 15 องศาโดยประมาณ ควรทำในช่วงหลังปลูกประมาณ 2 – 3 เดือนก่อนแยกเพศ เพราะต้นมะละกอยังอ่อนจะทำให้เอนต้นง่าย วิธีการเอนต้นอาจใช้ไม้ปักสองด้านเป็นรูปตัว X หรืออาจใช้หลักปักแล้วมัดเชือกดึงให้เอน อันนี้ก็แล้วแต่วิธีการของแต่ละท่านนะครับ 


ข้อดีของการทำให้มะละกอต้นเอนคือ จะได้มะละกอต้นเตี้ย ทำให้รากฝอยกระจายตัวได้ดี รากหาอาหารได้ดี หมดปัญหาเรื่องรากเน่า เพราะรากจะกระจายตามผิวดินไม่ดิ่งลงลึกมาก ทำให้มะละกอติดลูกดก เก็บผลผลิตง่ายนั่นเองครับ


5. ปลูกให้พ้นแนวแสงบดบัง อันนี้หมายรวมถึงระยะปลูกด้วย เพราะมะละกอเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดอย่างสม่ำเสมอ และแสงแดดต้องส่องได้ทั่วถึง เพราะฉะนั้นพื้นที่ปลูกต้องไม่มีต้นไม้ใหญ่บดบัง โดยเฉพาะแนวแสงทางด้านทิศตะวันออกสำคัญมาก หากมีต้นไม้ใหญ่บดบังอาจทำให้การสังเคราะห์ด้วยแสงของมะละกอขาดประสิทธิภาพ ที่สำคัญทำให้ต้นมะละกอของเราเกิดการยืดต้นหาแสง แทนที่จะได้ต้นเตี้ยกลับได้ต้นสูงยาวแทนนั่นเอง การปลูกมะละกอในที่ราบโดยเฉพาะพื้นที่น้ำขังควรยกร่องให้สูงไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตรหรือมากกว่านั้น ส่วนระยะปลูกที่เหมาะสมที่สุดจากประสบการณ์ของผู้เขียนคือใช้ระยะห่างระหว่างแถว 3 เมตร ระยะห่างระหว่างต้น 2.5 – 3 เมตร (3 x 3 หรือ 3 x 2.5) ถือว่าเป็นระยะที่เหมาะสมที่สุด แต่ถ้าพื้นที่ปลูกอุดมสมบูรณ์มีธาตุอาหารเพียงพอ อาจใช้ระยะห่างมากกว่านี้นิดหน่อยก็ได้ เหตุผลที่ปลูกห่างก็เพื่อป้องกันทรงพุ่มชนกัน ทำให้มะละกอได้รับแสงอย่างเต็มที่ และที่สำคัญสามารถเอนต้นได้ง่าย สุดท้ายก็จะได้มะละกอต้นเตี้ยติดลูกดกนั่นเองครับ.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การสังเกตมะละกอต้นใหน..? ต้นตัวผู้..ต้นตัวเมีย..หรือต้นกระเทย

เคล็ดลับสังเกตเพศมะละกอ ต้นมะละกอแบ่งออกเป็น 3 เพศ   คือ ต้นตัวผู้ ต้นตัวเมียและต้นสมบูรณ์เพศ หรือเรียกอีกอย่างว่ามะละกอต้นกระเทย โดยทั่วไปจะสังเกตเพศได้เมื่อต้นมะละกอ ออกดอกแล้วเท่านั้น ขณะนี้ยังไม่มีวิธีการใดที่จะบอกเพศมะละกอในขณะที่ยังเป็นต้นกล้าเล็ก ๆ หรือก่อนที่มะละกอออกดอกได้ *** เพศของดอกมะละกอมีตัวถ่ายทอดพันธุกรรม คือ ยีนส์เพียงคู่เดียวเป็นตัวควบคุม มีวิธีการสังเกตดังนี้ เพศมะละกอ 1. มะละกอต้นตัวผู้   มีช่อดอกยาวแตกแขนงเป็นสาย 70-120 เซนติเมตร ดอกบนช่อเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่มีอวัยวะเพศเมียปรากฏอยู่แต่ไม่ทำหน้าที่ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวหรือครีมโคนกลีบเป็นหลอด ปลายกลีบแยกกัน 5 แฉก บริเวณโคนติดกัน กลีบที่แยกกันนั้นจะมีอับเกสรตัวผู้สีเหลือง 10 ชุด   ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และช่วงแสงต่อวันน้อย รังไข่ของดอกมะละกอต้นตัวผู้อาจเจริญพัฒนาติดเป็นผล หลังจากรับการถ่ายละอองเกสรตัวผู้ได้ มะละกอต้นตัวผู้นี้ปกติไม่ให้ผลคุ้มค่าการลงทุน ควรทำการตัดทิ้ง ดอกมะละกอตัวผู้ 2. มะละกอต้นตัวเมีย   จะเป็นต้นตัวเมียที่แท้จริ...

วิธีสังเกตช่อดอก และแยกเพศมะละกออย่างง่ายๆ

หลังจากคลุกคลีอยู่กับพืชหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผักหวานป่า อินทผาลัม หรือแม้กระทั่งไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง และไผ่ตงลืมแล้ง ตามแนวคิดที่ว่า ถ้าเดินเข้าสวนของผมก็ต้องมีของกินของขายแทบทุกชนิดรวมอยู่ในที่ดินเพียงผืนเดียว โดยใช้พื้นที่เพียง 12 ไร่ ด้วยความคิดที่ไม่หยุดยั้งตามด้วยการกระทำที่ไม่หยุดนิ่ง จึงได้เริ่มปลูกมะละกอฮอนแลนด์ประมาณหนึ่งไร่กว่าๆ เริ่มตั้งแต่นำเมล็ดมาเพาะเอง (3 ต้น/1ถุงเพาะชำ) จนได้ต้นกล้าอายุประมาณ 1 เดือน ปลูกด้วยระยะห่าง 2.5 x 2.5 เมตร เริ่มปลูกช่วงปลายเดือนกรกฎาคม มาถึงตอนนี้ (ตุลาคม) อายุมะละกอฮอนแลนด์ก็ได้ประมาณ 3 เดือน ก็มาถึงช่วงสำคัญ นั่นก็คือการแยกเพศมะละกอเพื่อให้ได้ต้นสมบูรณ์เพศหรือต้นกะเทย ตามภาษาชาวสวนมะละกอเขาเรียกกัน เพราะมะละกอเป็นพืชที่ไม่สมบูรณ์เพศ จะมี 3 เพศคือ  1. ต้นตัวผู้จะไม่ให้ผลผลิต 2. ต้นตัวเมียจะให้ผลผลิตรูปทรงกลมกลวง เนื้อไม่หนา ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด  3. ต้นสมบูรณ์เพศหรือต้นกะเทย อันนี้จะให้ผลรูปทรงกระบอกเรียวยาว เนื้อหนา เป็นที่ต้องการของตลาด ขายได้ราคาดี  บทความนี้ขออธิบายการสังเกตช่อดอกมะละกอให้ฟังพอคร่าวๆจากปร...

วิธีตัดต้นมะละกอ หรือ "ทำสาวมะละกอ" ให้ได้ต้นเตี้ย ติดลูกดก

พบกันอีกแล้วครับ..กับบทความเกษตรดีๆ รวมไปถึงเทคนิคเด็ด เคล็ดไม่ลับในการทำเกษตร ที่ผมนำมาฝากโดยเฉพาะสำหรับคนที่ปลูกมะละกอ ไม่ว่าจะเพื่อการค้าหรือว่ากันในเชิงพาณิชย์นะครับ ทำสาวมะละกอ เรื่องราวที่ผมจะนำมาบอกเล่าให้ฟังในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งวิธีในการดูแล และยืดอายุมะละกอในสวนของเรา หรือเรียกง่ายๆก็คือการทำสาวมะละกอ ให้ได้ต้นเตี้ย ติดลูกดก มีวิธีง่ายๆดังนี้ครับ หลังจากเราเก็บผลผลิตมะละกอชุดแรกหรือคอแรกไปแล้ว (ต้นมะละกออายุประมาณ 1 หรือ 2  ปี) ให้เราตัดต้นทิ้ง 2 ส่วน เหลือไว้ส่วนเดียว (จากโคนต้นขึ้นมา) ในการตัดให้ตัดเฉียงด้วยเลื่อยหรือมีดคมๆ จากนั้นก็คลุมด้วยถุงหรือแก้วพลาสติกเพื่อกันไม่ให้น้ำเข้า เสร็จแล้วให้บำรุงต้นด้วยมูลสัตว์เก่า หรือปุ๋ยสูตร 46-0-0 ประมาณ 1 ช้อนแกง/ต้น เพื่อเร่งการแตกยอด สุดท้ายก็รดน้ำให้ชุ่่ม คลุมด้วยเศษฟางหรือใบไม้แห้ง เพื่อเก็บรักษาความชื้นเป็นอันเสร็จครับ ทำสาวมะละกอ ต้นเตี้ย ลูกดก ด้วยวิธีง่ายๆเพียงเท่านี้  ผ่านไปประมาณ 3 สัปดาห์แขนงข้างต้นก็จะเจริญเติบโตเป็นลำต้นใหม่ที่พร้อมให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ในรุ่นต่อไปๆครับ